วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

ข่าวประจำสัปดาห์ที่9

คณะผู้แทนของเซเนกัล คองโก กาบอง แองโกลา และแคเมอรูน ประจำยูเนสโกเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการฯ
06 กันยายน 2553 21:08:11เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553 นาย Papa Momar Diop เอกอัครราชทูตเซเนกัล และประธานกลุ่มแอฟริกาในองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) นาย Jean-Marie Adoua เอกอัครราชทูตคองโก นาง Gisele Marie Hortense Memiaghe เอกอัครราชทูตกาบอง นาย Diekumpuna Sita N’Sadisi Jose เอกอัครราชทูตแองโกลา และนาง Brigitte Njock ที่ปรึกษา คณะผู้แทนถาวรแคเมอรูนประจำยูเนสโก เข้าเยี่ยมคารวะนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 3 กันยายน 2553 เพื่อศึกษาดูงานและเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานสัปดาห์แอฟริกา (African Week) ในประเทศไทยคณะผู้แทนฯ ได้กล่าวชื่นชมพัฒนาการต่าง ๆ ในไทย ซึ่งมีการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่นำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันแล้ว ไทยกับประเทศในแอฟริกายังทั้งหลายยังมีความคล้ายคลึงกันหลายประการ เช่น ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม เป็นต้น จึงมีโอกาสที่ไทยจะมีความร่วมมือด้านการพัฒนากับประเทศในแอฟริกา ซึ่งยังต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ และไทยสามารถให้ความช่วยเหลือได้ โอกาสนี้ เอกอัครราชทูตกาบองประจำยูเนสโกกล่าวว่า ประเทศกาบองมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำป่าไม้ จึงอยากเชิญชวนให้ฝ่ายไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ พิจารณาเข้าไปลงทุนในกาบอง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ จะได้แจ้งให้ผู้ที่สนใจของไทยพิจารณาเข้าไปร่วมลงทุนต่อไป รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในการให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาแก่ประเทศในแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศมีงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ โดยเฉพาะในกรอบของความร่วมมือใต้-ใต้ ปัจจุบัน ไทยมีการให้ทุนการศึกษาด้านต่าง ๆ แก่ประเทศในแอฟริกา ไทยยินดีที่จะร่วมมือกับกลุ่มประเทศแอฟริกาในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยไทยยินดีที่จะจัดสรรทุนการฝึกอบรมให้ตามความต้องการของประเทศเหล่านี้

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข่าวประจำสัปดาห์

สารนิเทศสิ่งพิมพ์ (Printed Materials)
สื่อสารนิเทศสิ่งพิมพ์ ได้แก่ สารนิเทศที่ผลิตขึ้นและรวบรวม เป็นเล่มจากการตีพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ เป็นสารนิเทศที่เริ่มมีบทบาทขึ้นเมื่องอุตสาหกรรม การพิมพ์ สิ่งพิมพ์เริ่มเกิดขึ้น มีรูปลักษณะต่าง ๆ กัน ตั้งแต่เป็นแผ่น ๆ ไปจนถึงเย็บเป็น เล่มแบบต่าง ๆ สื่อสิ่งพิมพ์แบ่งได้เป็น 5 ประเภทคือ
1. หนังสือ (Books) เป็นสื่อที่เกิดจากการพิมพ์เรื่องบันทึก ความรู้ ความคิด ความเชื่อถือ ประสบการณ์ และการกระทำของมนุษย์ในรูปเล่มที่ถาวร และมี ส่วนประกอบของรูปเล่มที่สมบูรณ์ คือ ใบหุ้มปก ปกหนังสือ ใบรองปก หน้าชื่อเรื่อง หน้าปก ใน คำนำ สารบาญ เนื้อเรื่อง บรรณานุกรม ภาคผนวก อภิธานศัพท์ และดรรชนี หนังสืออาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายวิธี สุดแท้แต่ว่าจะยึดหลัก เกณฑ์ใด แต่ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย คือ แบ่งตามเนื้อหาและแบ่งตามลักษณะการแต่ง (ชุติมา สัจจานันท์, 2523, หน้า 2) โดยถ้าแบ่งตามเนื้อหา แบ่งขอบเขตของหนังสือเป็น 2 ประเภท คือ หนังสือตำราและสารคดี และหนังสือบันเทิงคดี ถ้าแบ่งตามลักษณะการแต่งจะแบ่งได้เป็น การแต่งแบบร้อยแก้วและการแต่งแบบร้อยกรอง หนังสือตำราและสารคดี (Non-fiction Books) มุ่งให้สาระความรู้ใน สาขาวิชาต่าง ๆ เป็นหลัก (อัญญาณี คล้ายสุบรรณ์, 2531, หน้า 2) เป็นหนังสือที่มีจำนวน มากเมื่อเปรียบเทียบกับหนังสืออื่น ๆ ที่ให้บริการอยู่ในห้องสมุดประเภทต่าง ๆ และศูนย์ สารนิเทศหนังสือตำราและสารคดีที่ควรรู้จัก มีดังนี้
1. 1. ตำรา (Textbooks) เป็นหนังสือที่ใช้ในการศึกษาวิชาใดวิชาหนึ่ง ถ้า เป็นตำราในระดับต่ำกว่าขั้นอุดมศึกษา นิยมเรียกว่า หนังสือเรียน แบบเรียน หรือหนังสือ ประกอบการเรียน ได้แก่ หนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้สำหรับการเรียน มี สาระตรงตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรอย่างถูกต้อง อาจมีลักษณะเป็นเล่ม เป็นแผ่น หรือเป็น ชุดก็ได้ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2526, หน้า 1) หนังสือประกอบการเรียน หรือหนังสือเรียน เป็นหนังสือบังคับใช้ที่โรงเรียนอาจกำหนดให้นักเรียนทุกคนจัดหามาไว้ใช้ประจำตัวได้ หนังสือประเภทตำรา ยังมีอีกหลายประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ค้นคว้า ได้แก่ คู่มือครู หรือคู่มือการสอน ซึ่งครูอาจารย์เป็นผู้ใช้ หนังสือคู่มือการเรียน การสอนใช้ได้ทั้งครูและนักเรียน หนังสือเสริมประสบการณ์ หนังสืออ่านนอกเวลา และหนังสืออ่าน เพิ่มเติม เป็นต้น
1.2. ตำราชั้นสูง (Treatise) คือ ตำราหรือข้อเขียนในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง ซึ่งจะมีลักษณะที่เป็นทางการและเป็นระบบมากกว่าหนังสือ หรือข้อเขียนโดยทั่วไป
1.3. ตำราชั้นสูงในวิชาใดวิชาหนึ่ง (Monograph) คือ ตำราหรือ บทความทางวิชาการในห้วข้อวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือเป็นเรื่องราวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มัก จะพิพม์ออกมาเป็นชุด หนังสือตำราในลักษณะเนื้อหาอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการได้สารนิเทศ ที่จัดเก็บและให้บริการในห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศอื่น ๆ ได้แก่ รายงานประจำปี (Annual Report) รายงานการวิจัย (Research Report) เอกสารการประชุม (Transaction) รายงานการประชุม (Proceeding) จดหมายข่าว (Newsletter) วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (Thesis and Dissertation) และสิ่งพิมพ์รัฐบาล (Government Publication) เป็นต้น
1.4. หนังสือสารคดีทั่วไป เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ในสาระของ สารนิเทศในขอบเขตวิชาต่าง ๆ ด้วยวิธีการเขียนง่าย ๆ ให้ผู้อ่านได้เกิดความเพลิดเพลินจากสำนวนภาษา ลีลาการเขียน ตลอดจนความบันเทิงประทับใจที่ได้จากการอ่าน หนังสือบันเทิงคดี (Fiction Books) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากจินตนาการ ความนึกคิดของผู้เขียน โดยอาศัยประสบการณ์จำลอง ของชีวิตภายในสังคม ผู้ เขียนมุ่งเขียนขึ้นเพื่อความเพลิดเพลินเป็นหลัก แต่ผู้เขียนที่เน้นในการถ่ายทอดความนึกคิดจะ พยายามแทรกเนื้อหาและสาระ ตลอดจนคติชีวิตต่าง ๆ หนังสือประเภทนี้ ได้แก่ หนังสือ การ์ตูน นวนิยาย เรื่องสั้น เป็นต้น
2.วารสาร (Periodicals) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดระยะเวลาออกไว้ แน่นอน เช่น รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ราย 2 เดือน เป็นต้น ออกโดยสม่ำเสมอ และมีชื่อเรียกแน่นอน โดยจะพิมพ์บทความและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทันสมัยไว้ในเล่มเดียวกัน เขียนโดยผู้เขียนหลายคน เนื้อหาสาระภายในมักเป็นเรื่องหลายเรื่องหลายแบบรวม ๆ กัน จัดเป็นคอลัมน์หรือส่วนเฉพาะ แบ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข่าวประเภทสรุป หรือวิเคราะห์วิจารณ์ในรอบเวลาหนึ่งเป็นบทความที่ให้ความรู้ หรือแสดงความคิดเห็น เขียนเป็นเรื่องสั้น หรือนวนิยายเป็นตอน ๆ เขียนเป็นสารคดีทั่วไป แฟชั่นต่าง ๆ ประกาศโฆษณา เป็นต้น การจัดทำวารสารหรือนิตยสารจะมีคณะผู้จัดทำหลายคนร่วมกันทำ โดยแต่ละคนรับผิดชอบหน้า ที่กันไปคนละอย่างมีตั้งแต่ เจ้าของ ผู้อำนวยการ บรรณาธิการ ฝ่ายศิลป เป็นต้น วารสารมีการแบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะของเนื้อหาวิชา คือ
2.1 วารสารวิชาการ (Journal) เป็นวารสารที่จัดทำโดยสถาบัน บริษัท หรือสมาคมทางวิชาการ เนื้อหาบทความที่ตีพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นบทความทางวิชาการ
2.2 นิตยสาร (Magazine) เป็นวารสารสำหรับผู้อ่านทั่วไป ตีพิมพ์ บทความหลายชนิดในหลายสาขาวิชาการ แต่ละบทความเขียนโดยผู้เขียนหลายคน คำเรียกชื่อวารสารในภาษาไทยมีใช้กันหลายคำ ความหมายของคำว่า วารสารเป็นเรื่องของภาษา มีการเปลี่ยนแปลง จึงควรพิจารณาลักษณะของบทความที่ตีพิมพ์ หรือความมุ่งหมายของการจัดทำ ประกอบด้วย (วิสิทธิ์ จินตวงศ์, 2520, หน้า 259-260) คำที่เรียกชื่อวารสารมีหลายคำ เช่น ข่าว จดหมายข่าว จดหมายเหตุ จุลสาร แถลงการณ์ แถลงข่าว นิตยสาร วารสาร สาส์น หนังสือพิมพ์ อนุสาร เป็นต้น การแบ่งประเภทของวารสาร มีการแบ่งได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามผู้ผลิต หรือผู้จัดทำ เช่น วารสารที่จัดทำโดยหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ สมาคม องค์การ บริษัท ตลอดจนเอกชนที่จัดทำเพื่อการค้า แต่ถ้าจัดแบ่งตามวัตถุประสงค์ เนื้อหา และผู้จัดทำ
3. หนังสือพิมพ์ (Newspapers) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีความหมายถึงสิ่งพิมพ์ ข่าว และความเห็นที่เสนอแก่ประชาชน ตามปกติออกเป็นรายวัน (ราชบัณฑิตยสถาน ก, 2530, หน้า 847) หนังสือพิมพ์นับเป็นสื่อสารนิเทศที่มีความสม่ำเสมอ เนื้อหาสาระที่นำเสนอมีความรวด เร็วทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคม หนังสือพิมพ์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอข่าวเรื่องราวที่น่าสนใจทั่วไปอย่างกว้าง ขวาง รูปเล่มมีลักษณะเป็นกระดาษขนาดใหญ่ จำนวนหลายแผ่นพับได้ไม่เย็บเป็นเล่ม ส่วนใหญ่จะออกเป็นรายวัน หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นเพื่อคนทุกระดับความรู้ ไม่จำกัดผู้ อ่าน สามารถอ่านจบได้ในเวลาอันสั้นและอ่านได้ทุกเวลา และทุกสถานที่จึงเป็นสิ่งพิมพ์ ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายจากผู้อ่าน มากกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น ๆ
ลักษณะข่าวที่ดีในหนังสือพิมพ์
1. เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือกระทบกระเทือนต่อคนส่วนมากหรือจำนวนมาก เช่น ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง เป็นต้น
2. เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทั่วไปสนใจอยากทราบหรือควรทราบ ข่าวนั้น อาจจะมีหรือไม่มีผลกระทบโดยตรง ต่อประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้ มักเป็นข่าวเชิงความรู้ในวิทยาการต่าง ๆ เช่น ข่าวการเดินทางของยานอวกาศโคลัมเบีย เป็นต้น
3. เป็นเรื่องที่มีความเป็นจริงมากกว่าความเท็จ ได้แก่ การที่หนังสือพิมพ์ เสนอข่าวแบบตรงไปตรงมา มีความเป็นจริงตามข่าวที่ปรากฏขึ้น ไม่มีการเสริมแต่งข่าวให้เข้าใจผิดแต่ประการใด
หนังสือพิมพ์ที่มีการจำหน่ายโดยทั่วไป มักนิยมจัดพิมพ์เป็น 2 ขนาด คือ
1.หนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ เป็นการจัดพิมพ์ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีขนาดความกว้าง 14 นิ้ว และยาว 23 นิ้ว ส่วนจำนวนหน้าขึ้นอยู่กันนโยบายในการผลิตของแต่ละสำนักพิมพ์ ปกติหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย มีประมาณ 16-24 หน้า เช่น หนังสือพิมพ์สยามรัฐ มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ บ้านเมือง ข่าวสด เป็นต้น บางฉบับมี จำนวนหน้าหนาเป็นพิเศษ และเป็นหนังสือพิมพ์เฉพาะเรื่อง เช่น ประชาชาติธุรกิจ มีจำ นวนหน้ามากกว่า 60 หน้า เป็นต้น
2 หนังสือพิมพ์ขนาดเล็ก เป็นการจัดพิมพ์เข้ารูปเล่มในลักษณะพับครึ่ง ของกระดาษหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ (Tabloid) คือมีขนาดกว้างประมาณ 11 1/2 นิ้ว 2 ยาว 14 1/4 นิ้ว มีจำนวนหน้าประมาณ 8-16 หน้า เช่น หนังพิมพ์ Student Weekly หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับตอนบ่าย เป็นต้น
4. จุลสาร (Pamphletts) คือสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก มีความหนาอย่างน้อย 5 หน้า แต่ไม่เกิน 48 หน้า รูปเล่มไม่แข็งแรง ปกอ่อน อาจเป็นกระดาษแผ่นเดียวพับไปมาหรือ เป็นเล่มบาง ๆ เนื้อหากล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวและจบบริบูรณ์ภายในเล่ม ความยาวไม่มากนัก เขียนอย่างง่าย ๆ ส่วนมากแล้ว เนื้อหาจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจในช่วง ระยะเวลาหนึ่ง โดยจะให้ข้อมูลที่ทันสมัย รายละเอียดในเรื่องอาจยังไม่มีการจัดพิมพ์เป็น เล่มหนังสือ จุลสารมักจัดทำโดยหน่วยราชการ องค์การ สถาบันต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่เรื่อง ราวที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานนั้น ๆ จุลสารนับเป็นสื่อสารนิเทศที่ได้จากการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ประโยชน์ในการแนะนำ เผยแพร่ หรือสรุปรายงานของหน่วยงาน เป็นสารนิเทศที่ให้ข้อมูลทันสมัย เพราะมักมีการจัดพิมพ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลเดิม หรือจัดพิมพ์ใหม่ จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการจัดเก็บและให้บริการ ในศูนย์สารนิเทศตลอดจนห้องสมุดโดยทั่วไป
5. กฤตภาค (Clippings) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่จัดทำขึ้นใช้เองในห้องสมุดและ ศูนย์สารนิเทศต่าง ๆ จัดทำขึ้นจากการตัดข้อความข่าว หรือภาพจากหนังสือพิมพ์ วารสาร หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ มาติดแปะไว้กับกระดาษเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไป ข้อความที่ตัดจากสื่อสิ่ง พิมพ์ต่าง ๆ อาจจะเป็นข่าว บทความ หรือสารคดี เป็นสาระความรู้ หรือเรื่องราวใหม่ ๆ การจัดทำกฤตภาคจึงแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ
5.1 กฤตภาคข่าว (News Clippings) เป็นกฤตภาคที่รวบรวมจาก หนังสือพิมพ์และวารสารโดยทั่ว ๆ ไป เน้นประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลเฉพาะเรื่องต่าง ๆ
5.2 กฤตภาคภาพ (Picture Clippings) เป็นกฤตภาคที่ตัดจาก ภาพเป็นส่วนใหญ่ ทั้งกฤตภาคข่าว และกฤตภาคภาพ จะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ให้ข้อมูลทันสมัย บรรณารักษ์ตลอดจนนักสารนิเทศจัดทำขึ้นใช้เอง เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการขาดแคลนข้อ มูลจากหนังสือ แและเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซื้อหนังสือ ห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดประชาชน มักนิยมจัดทำขึ้นใช้เอง ส่วนห้องสมุดขนาดใหญ่มักนิยมจัดทำเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจ เพราะได้จัดทำดรรชนีหนังสือพิมพ์ และดรรชนีวารสารเพื่อค้นข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ และวารสารอยู่แล้ว

ส่งE-Book

http://www.uploadd.com/download.aspx?pku=4B128A9D6GJTYFJGWTPDC9VAKW2YS

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ข่าวประจำสัปดาห์

การรู้สารสนเทศ




ในยุคสารสนเทศ ( Information age ) บุคคลต้องเผชิญกับสารสนเทศ ซึ่งมีมากมหาศาล หลากหลายรูปแบบ และสามารถพบได้ทุกที่ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ความเป็นมา ของการรู้สารสนเทศ ได้มีการพูดถึงกันมากกว่า 20 ปีมาแล้ว โดยเริ่มปรากฏ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่1970 กล่าวคือ ในปี 1974 Zurkowski นายกสมาคมอุตสาหกรรมสารสนเทศ ถือว่าเป็นคนแรก ที่พูดถึง มโนทัศน์การรู้สารสนเทศ โดย เป็นการกล่าวถึง ลักษณะของผู้รู้สารสนเทศ ความหมายของสารสนเทศ การรู้สารสนเทศ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ความรู้สารสนเทศ โดยเป็นกระบวนการ ทางปัญญา เพื่อสร้างความเข้าใจ ในความต้องการสารสนเทศ การค้นหาการประเมิน การใช้สารสนเทศ และการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพ และการรู้สารสนเทศ จำเป็นต้องอาศัยทักษะต่าง ๆ ลักษณะของผู้รู้สารสนเทศ การรู้สารสนเทศ เป็นชุดความสามารถ และทักษะต่าง ๆ ที่จะเติบโตไปพร้อมกับผู้เรียน ซึ่ง สมาคมห้องสมุดแห่งอเมริกา ได้กำหนด องค์ประกอบของการรู้สารสนเทศไว้ 5 ประการ ดังนี้ คือ

ความสามารถในการตระหนักว่า เมื่อใดจึงจะต้องการสารสนเทศ เข้าใจถึง ความสำคัญของสารสนเทศว่า ใช้ประโยชน์ต่อการตัดสินใจ และช่วยในการทำงานหรือการเรียนได้ดีขึ้น

ความสามารถในการค้นหาสารสนเทศ และรู้ว่าจะได้สารสนเทศที่ต้องการได้จากที่ใด และจะค้นคืนสารสนเทศได้อย่างไร

ความสามารถในการประเมินสารสนเทศ และแหล่งสารสนเทศได้อย่างมีวิจารณญาณ

ความสามารถในการประมวลผลสารสนเทศ คือ การคิดและการวิเคราะห์สารสนเทศที่ได้มา

ความสามารถในการใช้และการสื่อสารสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองได้ ตลอดจนการเข้าถึง และการใช้สารสนเทศอย่างมีจริยธรรมและถูกกฎหมาย

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การรู้สารสนเทศ

การรู้สารสนเทศ (Information literacy)

ความหมาย
การรู้สารสนเทศ (Information literacy) หมายถึง ความรู้ความสามารถและทักษะของบุคคลในการเข้าถึงสารสนเทศ ประเมินสารสนเทศที่ค้นมาได้ และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพทุกรูปแบบ ผู้รู้สารสนเทศจะต้องมีทักษะในด้านต่างๆ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์และ / หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการใช้ภาษา ทักษะการใช้ห้องสมุด ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ความสำคัญ
การรู้สารสนเทศมีความสำคัญต่อความสำเร็จของบุคคลในด้านต่างๆ ดังนี้
1. การศึกษา การรู้สารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการศึกษาของบุคคลทุกระดับ ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้นบทบาทของผู้สอนจึงเปลี่ยนเป็นผู้ให้คำแนะนำชี้แนะโดยอาศัยทรัพยากรเป็นพื้นฐานสำคัญ

2. การดำรงชีวิตประจำวัน การรู้สารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะผู้รู้สารสนเทศจะเป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์ประเมินและใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองเมื่อต้องการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าต้องการซื้อเครื่องปรับอากาศของบริษัทใดบริษัทหนึ่งก็ต้องพิจารณามาตรฐาน คุณภาพ บริการหลังการขาย และเปรียบเทียบราคา แล้วจึงค่อยตัดสินใจ เป็นต้น

3. การประกอบอาชีพ การรู้สารสนเทศมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะบุคคลนั้นสามารถแสวงหาสารสนเทศที่มีความจำเป็นต่อการประกอบอาชีพของตนเองได้ เช่น เกษตรกร เมื่อประสบปัญหาโรคระบาดกับพืชผลทางการเกษตรของตน ก็สามารถหาตัวยาหรือสารเคมีเพื่อมากำจัดโรคระบาด ดังกล่าวได้ เป็นต้น

4. สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การรู้สารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสังคมในยุคสารสนเทศ (Information Age) บุคคลจำเป็นต้องรู้สารสนเทศเพื่อปรับตนเองให้เข้ากับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เช่น การอยู่ร่วมกันในสังคม การบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจและการแข่งขัน การบริหารบ้านเมืองของผู้นำประเทศ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าผู้รู้สารสนเทศ คือ ผู้ที่มีอำนาจสามารถาชี้วัดความสามารถขององค์กรหรือประเทศชาติได้ ดังนั้นประชากรที่เป็นผู้รู้สารสนเทศจึงถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดของประเทศ

องค์ประกอบของการรู้สารสนเทศ

การรู้สารสนเทศเป็นทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะ และกระบวนการอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนา การเรียนรู้ทุกรูปแบบ สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association. 2005 : Online) ได้กำหนดองค์ประกอบของการรู้สารสนเทศไว้ 4 ประการ คือ

1. ความสามารถในการตระหนักว่าเมื่อใดจำเป็นต้องใช้สารสนเทศ ผู้เรียนจะต้องกำหนดเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า กำหนดความต้องการสารสนเทศ ระบุชนิดและรูปแบบที่หลากหลายของแหล่งสารสนเทศที่จะศึกษา เช่น ห้องสมุด ศูนย์สารสนเทศ พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ บุคคล สถานที่ อินเทอร์เนต เป้นต้น รวมทั้งตระหนักถึงค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่ได้รับ และทราบขอบเขตของสารสนเทศที่จำเป็น

2. การเข้าถึงสารสนเทศ ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีการค้นคืนสารสนเทศที่เหมาะสม กำหนดกลยุทธ์การค้นคืนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถค้นคืนสารสนเทศออนไลน์หรือสารสนเทศจากบุคคลโดยใช้วิธีการที่หลากหลายสามารถปรับกลยุทธ์การค้นคืนที่เหมาะสมตามความจำเป็น รวมถึงการตัดตอน บันทึก และการจัดการสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศ

3. การประเมินสารสนเทศ ผู้เรียนสามารถสรุปแนวคิดสำคัญจากสารสนเทศที่รวบรวม โดยใช้เกณฑ์การประเมินสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือ ความเที่ยงตรง ความถูกต้อง และความทันสมัย สามารถสังเคราะห์แนวคิดหลักเพื่อสร้างแนวคิดใหม่ เปรียบเทียบความรู้ใหม่กับความรู้เดิมเพื่อพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่เพิ่มขึ้น อะไรคือสิ่งที่ขัดแย้งกัน และอะไรคือสิ่งที่คล้อยตามกัน

4. ความสามารถในการใช้สารสนเทศที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนสามารถใช้สารสนเทศใหม่ผนวกกับสารสนเทศที่มีอยู่ในการวางแผนและสร้างผลงาน หรือการกระทำตามหัวข้อที่กำหนดทบทวนกระบวนการ พัฒนาการผลิตผลงานของตนเอง และสามารถสื่อสารหรือเผยแพร่ผลงานของตนเองต่อบุคคลอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากความสามารถดังกล่าวแล้ว ผู้เรียนควรมีคุณสมบัติในด้านอื่นๆ ประกอบอีก ได้แก่

1. การรู้ห้องสมุด (Library literacy) ผู้เรียนต้องรู้ว่า ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมสารสนเทศในสาขาวิชาต่างๆ ไว้ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเลกทรอนิกส์ รู้วิธีการจัดเก็บสื่อ รู้จักใช้เครื่องมือช่วยค้นต่างๆ รู้จักกลยุทธ์ในการค้นคืนสารสนเทศแต่ละประเภท รวมทั้งบริการต่างๆ ของห้องสมุด โดยเฉพาะห้องสมุดของสถาบันการศึกษาที่ผู้เรียนกำลังศึกษาอยู่จะต้องรู้จักอย่างลึกซึ้งในประเด็นต่างๆ ดังกล่าวแล้ว การรู้ห้องสมุดครอบคลุมการรู้แหล่งสารสนเทศอื่นๆด้วย

2. การรู้คอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) ผู้เรียนต้องรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เบื้องต้นในเรื่องของฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ การเชื่อมประสาน และการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ เช่น การพิมพ์เอกสาร การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การใช้อินเตอร์เนตในการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการรู้ที่ตั้งของแหล่งสารสนเทศ เป็นต้น

3. การรู้เครือข่าย (Network Literacy) ผู้เรียนต้องรู้ขอบเขตและมีความสามารถในการใช้สารสนเทศทางเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก สามารถใช้กลยุทธ์การสืบค้นสารสนเทศจากเครือข่าย และการบูรณาการสารสนเทศจากเครือข่ายกับสารสนเทศจากแหล่งอื่นๆ

4. การรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เห็น (Visual Literacy) ผู้เรียนสามารถเข้าใจและแปลความหมายสิ่งทีเห็นได้รวมถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ การแสดงความคิดเห็น และสามารถใช้สิ่งที่เห็นนั้นในการทำงานและการดำรงชีวิตประจำวันของตนเองได้ เช่น สัญลักษณ์บุหรี่ และ มีเครื่องหมายกากบาททาบอยู่ด้านบนหมายถึง ห้ามสูบบุหรี่ สัญลักษณ์ผู้หญิงอยู่หน้าห้องน้ำ หมายถึง ห้องน้ำสำหรับสตรี เป็นต้น

5. การรู้สื่อ (Media Literacy) ผู้เรียนต้องสามารถเข้าถึง วิเคราะห์ และผลิตสารสนเทศจากสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิทยุ ดนตรี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นต้น รู้จักเลือกรับสารสนเทศจากสื่อที่แตกต่างกัน รู้ขอบเขตและการเผยแพร่สารสนเทศของสื่อ เข้าใจถึงอิทธิพลของสื่อ และ สามารถพิจารณาตัดสินได้ว่าสื่อนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร

6. การรู้สารสนเทศดิจิทัล (Digital Literacy) ผู้เรียนสามารถเข้าใจและใช้สารสนเทศรูปแบบซึ่งนำเสนอในรูปดิจิทัลผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างการรู้สารสนเทศดิจิทัล เช่น สามารถดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลจากแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่เข้าถึงในระยะไกลมาใช้ได้ รู้ว่าคุณภาพสารสนเทศที่มาจากเว็บไซต์ต่างๆ แตกต่างกันรู้ว่าเว็บไซต์น่าเชื่อถือและเว็บไซต์ไม่น่าเชื่อถือ รู้จักโปรแกรมการค้นหา สามารถสืบค้นโดยใช้การสืบค้นขั้นสูง รู้เรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองทรัพยากรสารสนเทศบนเว็บไซต์ การอ้างอิงสารสนเทศจากเว็บไชต์ เป็นต้น

7. การมีความรู้ด้านภาษา (Language Literacy) ผู้เรียนมีความสามารถกำหนดคำสำคัญสำหรับการค้น ในขั้นตอนการค้นคืนสารสนเทศที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การค้นสารสนเทศจาก
อินเตอร์เนต และการนำเสนอสารสนเทศที่ค้นมาได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่จำเป็นมากที่สุด เนื่องจากเป็นภาษาสากล และสารสนเทศส่วนใหญ่เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ

8. การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจเลือกรับสารสนเทศที่นำเสนอไว้หลากหลาย โดยการพิจารณาทบทวนหาเหตุผล จากสิ่งที่เคยจดจำ คาดการณ์ โดยยังไม่เห็นคล้อยตามสารสนเทศที่นำเสนอเรื่องนั้นๆ แต่จะต้องพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองด้วยความรอบคอบและมีเหตุผลว่าสิ่งใดสำคัญมีสาระก่อนตัดสินใจเชื่อ จากนั้นจึงดำเนินการแก้ปัญหา

9. การมีจริยธรรมทางสารสนเทศ (Information Ethic) การสร้างผู้เรียนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ มีความสำคัญและเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการศึกษา เพื่อปลูกฝังผู้เรียนให้รู้จักใช้สารสนเทศโดยชอบธรรมบนพื้นฐานของจริยธรรมทางสารสนเทศ เช่น การนำข้อความหรือแนวคิดของผู้อื่นมาใช้ในงานของตนจำเป็นต้องอ้างอิงเจ้าของผลงานเดิม การไม่นำข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมและจรรยาบรรณของสังคมไปเผยแพร่ เป็นต้น

ที่มา : คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ.//(2548).ทักษะการรู้สารสนเทศ.//พิมพ์ครั้งแรก.//กรุงเทพฯ: ภาควิชา
บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ